วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

ความโกรธ




ความโกรธเริ่มจากน้อยไปหามาก เกิดขึ้นตามลำดับ คือ บางครั้งความโกรธเพียงแค่ทำให้ใจขุ่นมัว แต่ไม่ถึงกับทำให้หน้างอ บางครั้งทำให้ถึงกับหน้างอ แต่ไม่ถึงกับปากสั่นคางสั่น บางครั้งทำให้ปากสั่นคางสั่น แต่ไม่ถึงกับพูดจาหยาบคาย 

บางครั้งเป็นเพียงพูดจาหยาบคาย แต่ยังไม่ถึงกับเหลียวดูทิศต่างๆ บางครั้งทำให้เหลียวมองดูทิศต่างๆ แต่ไม่ถึงกับจับท่อนไม้หรืออาวุธ บางครั้งเพียงแค่เงื้อท่อนไม้หรืออาวุธขึ้น แต่ไม่ถึงกับทำร้ายกัน 

บางครั้งก็ทำให้ถึงกับเลือดตกยางออก แต่ไม่ถึงกับให้เสียชีวิต และเมื่อความโกรธรุนแรงมากกว่านั้น ก็ทำให้ศัตรูเสียชีวิต และก็ทำตนให้เสียชีวิต มันจะรุนแรงขึ้นตามลำดับอย่างนี้ 

เหตุที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้นนั้น มี 10 ประการ คือ
1. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้นได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ได้พูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรามาก่อน
2. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้น กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก กำลังพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรา
3. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า ในวันข้างหน้าคนคนนั้นจะทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจ เป็นทุกข์ใจแก่เรา
4. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้นได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ได้พูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราเคารพรัก
5. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้นกำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก กำลังพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราเคารพรัก
6. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า ในวันข้างหน้าคนคนนั้น จะทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราเคารพรัก
7. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้น ได้ทำสิ่งที่เป็นที่รัก ได้พูดคำอันเป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราไม่รัก ไม่เคารพ ไม่นับถือ
8. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้น กำลังทำสิ่งที่เป็นที่รัก กำลังพูดคำอันเป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราไม่รัก ไม่เคารพ ไม่นับถือ
9. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า ในวันข้างหน้าคนคนนั้นจะทำสิ่งที่เป็นที่รัก หรือพูดคำอันเป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราไม่รัก ไม่เคารพ ไม่นับถือ
10. ความโกรธเกิดขึ้นในอัฏฐานะ หมายความว่า โกรธด้วยเหตุผลที่ไม่สมควรแก่ความโกรธ เช่น เดินไม่ระวังไปสะดุดก้อนหินก็โกรธ เดินไม่ระวังตกบันไดก็โกรธ เดินไปชนฝาหรือประตูก็โกรธ การโกรธในลักษณะดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าโกรธในอัฏฐานะ

พระธนากร  จิตฺตปญฺโญ

ความสุขเลือกได้



ขึ้นชื่อว่า "ความสุข" ใครๆ ก็ปรารถนาจะมี ปรารถนาจะได้ และปรารถนาจะดำรงอยู่ในความสุขตลอดไปด้วยกันทั้งนั้น "ความสุข" มีทั้ง "ความสุขกาย" จากการได้กินอิ่ม ได้ พักผ่อนนอนหลับหรือกล่าวรวมๆ ว่ามีความอยู่ดีกินดีและมีสุขภาพอนามัยดี มีทั้ง "ความสุขใจ หรือ ความสบายใจ" จากการที่ได้สมหวัง หรือ การได้ตามปรารถนา
"ความสุข" ดังที่กล่าวมานั้น จัดเป็นความสุขที่มีวัตถุเครื่อง ล่อใจ ชื่อว่า "สามิสสุข" ซึ่งมีลักษณะที่เป็นโทษโดยส่วนเดียว
เปรียบด้วยยาพิษ ก็มี เช่น สิ่งเสพติดมึนเมา ที่เป็นโทษ เมื่อเกินพอดี
เปรียบด้วยของมึนเมา ก็มี เช่น สุรา เมรัย การติดการละเล่น ติดเที่ยวกลางคืน การหมกมุ่นในกาม การติดการพนัน เป็นต้น
ที่เป็นอุปการะ เปรียบด้วยอาหาร และยาบำบัดโรค แต่ถ้าถูกใช้ในทางที่ผิดก็อาจให้โทษได้ ก็มี
อำนาจราชศักดิ์ อำนาจเงิน อำนาจพวกพ้อง ก็ช่วยให้เกิดความสุขความเจริญในทางโลกได้ แต่ถ้าใช้อำนาจเหล่านั้นผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็มีโทษได้ เป็นต้น
"พาลชน" คือ คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่พิจารณาให้เห็นคุณและโทษที่แท้จริงของสามิสสุข คือ ความสุขที่มีวัตถุเครื่องล่อใจเหล่านี้ บางคนจึงหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ให้โทษ บางคนหลงระเริงจนเกินพอดีในสิ่งที่อาจให้โทษ บางคนหลงติดอยู่ในสิ่งอันเป็นอุปการะ
บุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นคุณและโทษของสามิสสุขตามที่เป็นจริงเหล่านี้ จึงได้เสวยความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง
ส่วน "บัณฑิต" ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ พิจารณาเห็นคุณและโทษของสามิสสุขโดยถ่องแท้ ย่อมรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความสุขความเจริญ คือ สามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบัน ประโยชน์สุขในกาลข้างหน้า ทั้งสามารถถือเอาประโยชน์สุขอย่างยิ่งด้วย
ย่อมรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน อันควรละเว้นด้วย และย่อมรู้โทษของการติดอยู่ใน สามิสสุข คือ ความสุขด้วยเครื่องล่อใจเหล่านั้นด้วย จึงเป็นผู้ถึงความสันติสุข คือ ความสุขด้วยความสงบอันถาวร
ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ ย่อมสามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบันได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม 4 ประการ คือ
1.ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร
2.ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์
3.การเลือกคบแต่คนดี มีสติปัญญาอันเห็นชอบเป็นมิตร
4.และรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต